VML Thailand เปิดตัว BAV เครื่องมือทรงพลังเจาะอินไซด์แบรนด์
เสริมแกร่ง End-to-End Creative Solution Service เผยผลสำรวจล่าสุด
Super Brands in APAC: The Rise of Challenging Opportunities
พบใน APAC มี Super Brands เพียง 3% ความท้าทายใหม่ของ Global Brand และ Local Brand
ที่ทำอย่างไรจะปั้นซุปเปอร์แบรนด์ ชนะทั้งเกมและใจคน
กรุงเทพฯ (6 กันยายน 2567) – VML Thailand เอเยนซี่ที่ให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูล และเทคโนโลยีแบบครบวงจร เร่งเครื่องวางกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ลูกค้า เผยผลสำรวจใหม่ Super Brands in APAC: The Rise of Challenging Opportunities เมื่อแบรนด์ระดับโลก (Global Brand) ครองเกมแต่ไม่ครองใจ ในขณะที่แบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ใน APAC และไทยพยายามเร่งแซง โดยใช้ดัชนีชี้วัดอย่าง Brand Power (แบรนด์ที่แข็งแกร่ง) และ Brand Love (แบรนด์ที่ได้ใจคน) เพื่อทำการศึกษาและค้นหาแนวทางในการปั้น “Super Brands” (Brand Power X Brand Love) ที่ทั้งโดดเด่นทรงพลังและครองใจผู้บริโภคทั่วโลก ด้วย BAV (Brand Asset Valuator) เครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถวิเคราะห์เจาะอินไซด์ความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ รวมทั้งชี้นำแนวทางในการสร้างกลยุทธ์ปั้น “Super Brands” จากขุมพลัง Big Data ที่ทำการศึกษาวิจัยแบรนด์ทั่วโลกกว่า 60,000 แบรนด์มากว่า 30 ปี จนเป็นฐานข้อมูลวิจัยและคลังแสงความรู้ที่ช่วยในการสร้างและพัฒนาแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อผนวกกับการวิเคราะห์กลยุทธ์ ครีเอทีฟไอเดีย และเทคโนโลยีด้านการตลาด ซึ่งเป็น End-to-End Creative Solution Service ของ VML Thailand ทำให้เพิ่มขีดความสามารถให้กับแบรนด์ลูกค้า ทั้งในด้านคอมเมิร์ซ การสร้างประสบการณ์ลูกค้า สร้างภาพลักษณ์ และแบรนด์เลิฟ ตอบโจทย์แบรนด์และองค์กรอย่างตรงจุด
คุณปรัตถจริยา ชลายนเดชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร VML Thailand กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และนำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยี ไอเดียสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อตอบโจทย์ของแบรนด์และองค์กรด้วย End-to-End Creative Solution Service พร้อมสอดรับกับวัตถุประสงค์ของแบรนด์ที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายในยุคปัจจุบัน โดยเรานับเป็นฮับความคิดสร้างสรรค์ที่รวมตัวของทีม CREATIVE THINK TANK, WINNING STRATEGIST & DATA EXPERTIST และ DIGITAL ACCELERATION & COMMERCE ที่รวมความเชี่ยวชาญจากหลากหลายด้านเพื่อสร้างสรรค์โซลูชันที่ดีที่สุดให้กับแบรนด์ ภายใต้วัฒนธรรม ‘One Team’ คือ การเป็นพาร์ทเนอร์ทีมเดียวกับลูกค้า ตั้งแต่เริ่มสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน พร้อมทั้งการค้นหามุมมองความคิดใหม่ ๆ ที่เจาะลึกอินไซด์ความต้องการและความคิดของผู้บริโภคผ่านเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพต่าง ๆ ก่อนที่จะนำมาวิเคราะห์และสร้างสรรค์เป็นกลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์ที่ผสานผ่านการดำเนินงานด้านข้อมูล หรือ ‘ศาสตร์’ แห่งการใช้ Big Data เข้ากับ ‘ศิลป์’ ความคิดไอเดียที่สดใหม่ และถ่ายทอดสู่แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทันสมัยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเจาะตลาดและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค ก่อให้เกิดการเติบโตของแบรนด์ (Creative Brand Growth Strategy) ล่าสุด เราได้นำเสนอเครื่องมืออันทรงพลังและที่มีความแข็งแกร่ง เพื่อเข้าใจมุมมองความรู้สึกที่ผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ และจุดแข็งแกร่งของแบรนด์ อย่าง BAV ทำให้เราเข้าใจตำแหน่งที่แท้จริงของแบรนด์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนเข้าสู่การพัฒนากลยุทธ์ที่แม่นยำ และสร้างทิศทางการแก้ปัญหา และวางการสื่อสารได้อย่างทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
คุณเอกลักษณ์ จรัญวาศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ยุทธศาสตร์และ BAV APAC Champion กล่าวว่า “BAV หรือ Brand Asset Valuator เป็นเครื่องมือในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อบริหารแบรนด์ลูกค้าของบริษัท VML ทั่วโลก ภายใต้การเก็บผลสำรวจและศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้คนทั่วโลกมากกว่า 2.5 ล้านคน ใช้ระยะเวลาเก็บผลสำรวจมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 ถึงปัจจุบัน ในกว่า 50 ประเทศ โดยดำเนินการสำรวจในกลุ่มธุรกิจมากกว่า 1,000 กลุ่ม ทำการศึกษาวิจัยแบรนด์ทั่วโลกกว่า 60,000 แบรนด์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่แตกต่างของข้อมูลจาก BAV ที่ทำให้เราเห็นข้อมูลในภาพกว้างของแบรนด์นับพันในประเทศว่า แบรนด์แต่ละตัวและแต่ละกลุ่มประเภทสินค้าบริการมีความแข็งแกร่งแค่ไหนและมีทิศทางแนวโน้มที่จะเติบโตหรือตกลงเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ทั้งหมดที่มีในประเทศ นอกจากนี้ยังสะท้อนอินไซด์ของคนในประเทศได้ผ่านการศึกษาค่านิยมที่มีต่อแบรนด์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการใช้ชีวิตของคนที่ไม่ได้จำกัดแค่สินค้าบริการแต่ยังรวมไปถึงสื่อ อินฟลูเอนเซอร์ ดารา คนสำคัญ สถาบันองค์กรไปจนถึงระดับประเทศชาติ และทำการเปรียบเทียบข้อมูลกับแบรนด์ในประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทางแบบสอบถามออนไลน์โดยบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการปั้น Super Brands ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ 2 มุมมอง ได้แก่ Brand Power (Brand Asset) ซึ่งทำให้แบรนด์มีความแตกต่าง (Differentiation) เป็นที่สนใจพิจารณา (Relevancy) รู้สึกมั่นใจ (Esteem) และเป็นที่รู้จัก (Knowledge) และ Brand Love ซึ่งทำให้แบรนด์กลายเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคชื่นชอบและอยากแนะนำให้คนรอบตัวซื้อใช้ตาม เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกันบนแผนภาพประเมินทิศทางความเป็นไปได้ของแบรนด์ (Brand Power Grid) ก็จะทำให้เห็นว่าแบรนด์ยืนอยู่ในตำแหน่งไหนท่ามกลางแบรนด์กว่าพันแบรนด์ที่มีในตลาดของประเทศนั้น ๆ และแบรนด์มีแนวโน้มที่จะเติบโตหรือตกลงต่อไปในอนาคต หรือข้อผิดพลาดบางอย่างที่มองข้ามไปในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ในใจอื่น ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น”
โดยในปี 2567 นี้ VML Thailand ได้ดำเนินการวิเคราะห์ศึกษา Super Brands in APAC กับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (APAC) ครอบคลุม 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จำนวน 104,308 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2024 (ทำการสำรวจวิจัยเสร็จสิ้นเดือนเมษายน 2567) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินพลังความแข็งแกร่งของแบรนด์ (Brand Power) และความรักที่มีในแบรนด์ (Brand Love) เพื่อค้นหาซุปเปอร์แบรนด์ในใจคนเอเชียแปซิฟิก โดยทำการศึกษาทั้งในกลุ่ม Global Brand และ Local Brand ซึ่งผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึง โอกาสที่ท้าทายในการปั้นซุปเปอร์แบรนด์ เมื่อแบรนด์ระดับโลกครองเกมแต่ยังไม่ครองใจ ในขณะที่แบรนด์ท้องถิ่นใน APAC และไทยพยายามเร่งแซง
Power vs. Love ความท้าทายในการปั้นซุปเปอร์แบรนด์ APAC
จากการศึกษาถึงซุปเปอร์แบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักในใจคน APAC ครั้งนี้พบว่า มีเพียง 3% เท่านั้นที่สามารถเป็นซุปเปอร์แบรนด์ได้ โดยซุปเปอร์แบรนด์ที่มีความโดดเด่นในแทบทุกประเทศ คือ Google, YouTube และ Samsung ซึ่งเป็นแบรนด์เดียวจากเอเชียที่ติดอยู่ใน 3 อันดับนี้ ในขณะที่ iPhone และ Apple เป็นแบรนด์ที่เก่งทรงพลังสูงสุดอันดับหนึ่งแต่ยังมีความท้าทายเรื่องความเป็นที่รักในใจคน APAC โดยแบรนด์เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะมีบทบาทเป็นตัวช่วยให้คนสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลข่าวสารความบันเทิง ซัพพอร์ทการใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ในทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับโลก นอกจากนี้ยังพบว่า แบรนด์เหล่านี้ยังสามารถรักษาความโดดเด่นด้านพลังความแข็งแกร่งไว้ได้ แม้ว่าจะผ่านช่วงเวลาวิกฤตโลกอย่างโรคระบาด Covid-19 แม้ว่าแบรนด์ที่มีความโดดเด่นติด Top10 ด้านพลังความแข็งแกร่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ระดับโลก Global Brand แต่แบรนด์ที่เป็นอันดับหนึ่งหรืออยู่ในลำดับที่สูงกว่า ส่วนใหญ่กลับเป็นแบรนด์ประเทศของคนชาตินั้น ๆ (Country Brand) อย่างประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ นอกจากนั้นแล้ว แบรนด์ประเทศทั้งหมดยังมีความโดดเด่นติด Top5 ด้านความรักในแบรนด์อีกด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงค่านิยมความรักชาติที่แข็งแรงของคนใน APAC โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และพบบ้างในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย เวียดนาม และไทย ตามลำดับ ด้วยความรักชาติที่มีในประเทศตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ แบรนด์ระดับท้องถิ่นสามารถเข้ามามีความโดดเด่นใน Top10 ของซุปเปอร์แบรนด์ที่ทรงพลัง และยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นใน 10 อันดับความโดดเด่นด้านความเป็นที่รักในแบรนด์ด้วย
Global Brands vs. Local Brands เมื่อแบรนด์นอกครองเกมแบรนด์ไทยจะสู้กลับอย่างไร
สำหรับผลการสำรวจวิจัยล่าสุดในปีนี้ของประเทศไทยพบว่า ซุปเปอร์แบรนด์ที่ทรงพลังและเป็นที่รักในใจคนไทยคือ Google, YouTube, Samsung, TrueMoney และ 7-11 สำหรับแบรนด์ที่โดดเด่น 10 อันดับแรกในด้านพลังความแข็งแกร่งและความรักส่วนใหญ่ 8 ใน10 เป็นแบรนด์ระดับโลก มีเพียงสองแบรนด์ท้องถิ่นอย่างเช่น TrueMoney ที่เข้ามาติดอันดับนี้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วใน APAC อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเมื่อเราขยายผลการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมแบรนด์ทั้งหมดกว่า 1,200 แบรนด์ในไทยพบว่า มีเพียงประมาณ 3% ของแบรนด์ในไทยเท่านั้นเช่นกันที่สามารถเป็นซุปเปอร์แบรนด์ที่มีความโดดเด่นทั้งพลังความแข็งแกร่งและความเป็นที่รักในใจของคนไทยได้ ซึ่งซุปเปอร์แบรนด์ส่วนใหญ่มากกว่าสองในสามเป็นแบรนด์ระดับโลก แต่ผลสำรวจก็พบว่าคนไทยกำลังทวีความรู้สึกดีที่มีต่อความเป็นไทยมากขึ้นผ่านแบรนด์ประเทศไทยที่กำลังไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของแบรนด์ที่คนไทยรักมากที่สุด พร้อมภาพลักษณ์ด้านความกำลังเป็นที่นิยม (Gaining Popularity) และมีความก้าวหน้าพัฒนาเสมอ (Progressive) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับสองปีที่แล้ว รวมทั้งแบรนด์ระดับท้องถิ่นอีกหลายร้อยแบรนด์ที่มีพลังความแข็งแกร่งและความเป็นที่รักเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน จนใกล้เคียงกับแบรนด์ระดับโลกที่เป็นผู้นำของตลาดอย่างในกลุ่มสินค้าอาหาร สุขภาพและความงาม บริการด้านการเงิน การท่องเที่ยวเดินทาง เช่น แบรนด์ Bangkok Airways, Cute Press, Roza, เทพไท เป็นต้น นอกจากนี้ในผลสำรวจยังพบว่า คนไทย 83% ยอมจ่ายแพงมากขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้าของประเทศ และ 93% รู้สึกภูมิใจเมื่อเห็นแบรนด์ของไทยไปโตในตลาดต่างประเทศด้วย ดังนั้นการต่อยอดความรู้สึกผูกพันและความภูมิใจในชาติอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นเพิ่มพลังจนสามารถแข่งขันกับแบรนด์ระดับโลกได้
กลยุทธ์การปั้นซุปเปอร์แบรนด์
สำหรับปัจจัยสำคัญและแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการปั้นซุปเปอร์แบรนด์ด้วยการยกระดับทั้งพลังความแข็งแกร่ง (Brand Power) และความเป็นที่รักของแบรนด์ (Brand Love) สามารถสรุปได้เบื้องต้นเป็น 5 แนวทาง คือ
1.สร้างความเป็นสากล: แบรนด์ระดับโลกอย่าง Google, YouTube และ Samsung ประสบความสำเร็จจากการมีอยู่ทั่วโลกและการมีบทบาทเป็นตัวช่วยให้คนสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลข่าวสารความบันเทิง ซัพพอร์ทการใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่แบรนด์ขนาดใหญ่ระดับท้องถิ่นสามารถเรียนรู้และนำมาพัฒนาเพื่อเป็นหนึ่งในซุปเปอร์แบรนด์จาก APAC ที่ครองใจคนได้อย่าง ซัมซุง เป็นต้น
2.ใช้ความภาคภูมิใจในชาติเป็นแรงกระตุ้น: คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักมีความรักในแบรนด์ประเทศของตนเองสูง และมักจัดอันดับให้สูงกว่าแบรนด์ระดับโลก แบรนด์ท้องถิ่นควรใช้ความภาคภูมิใจนี้ในการเสริมสร้างความผูกพันในแบรนด์กับคนในประเทศและการมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างชื่อเสียงจากสินค้าบริการของประเทศในเวทีการค้าโลก ในขณะที่แบรนด์ระดับโลกก็มีส่วนร่วมได้ด้วยการเข้าไปเป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือคนและชุมชนในท้องถิ่นอย่างจริงจังจนกลายเป็นแบรนด์ที่คนในท้องถิ่นให้การชื่นชมยอมรับ เช่น Red Cross หรือสภากาชาดไทย, Unilever เป็นต้น
3.สร้างพันธมิตรเพื่อความสำเร็จ: สำหรับแบรนด์ระดับโลก การสร้างพันธมิตรกับแบรนด์ท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญในการเจาะตลาดที่มีความภาคภูมิใจในชาติสูง การทำงานร่วมกันนี้สามารถผสานนวัตกรรมระดับโลกกับความเข้าใจเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้ และช่วยให้เกิด Win Win ที่สร้างผลดีให้กับทั้งสองแบรนด์ได้
4.ความผสานเข้ากับวัฒนธรรม: ทั้งแบรนด์ระดับโลกและท้องถิ่นควรนำความเข้าใจทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสอดประสานเข้ากับการพัฒนาสินค้าบริการรวมไปถึงการทำการตลาดและการสื่อสารของแบรนด์ เช่น KFC กับการนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ และเมนูรสชาติใหม่ ๆ ที่เข้ากับจริตคนไทย ผสานการทำแคมเปญการตลาดออกโปรโมชันที่ใช่ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของประเทศ โดยกลยุทธ์นี้จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงและความรักในแบรนด์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
5.คุณภาพเป็นสะพานเชื่อม: ในขณะที่แบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่มักจะมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นด้านความน่าเชื่อถือ พรีเมียม ทันสมัย มากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความโดดเด่นอีกด้านเรื่อง การซัพพอร์ทคอยช่วยเหลือ และความผูกพันทางใจกับคนในชาติที่ดี ซึ่งการผสานจุดแข็งเหล่านี้สามารถยกระดับการรับรู้ความสนใจในแบรนด์ โดยเฉพาะในตลาดที่กำลังพัฒนา ซึ่งแบรนด์ระดับท้องถิ่นยังคงมีความยากลำบากในการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ ข้อเสนอแนะเหล่านี้จากผลสำรวจของ BAV ช่วยชี้ให้เห็นถึงการผสมผสานอย่างมีกลยุทธ์ระหว่างการเข้าถึงระดับโลก ความเกี่ยวข้องในท้องถิ่น และความร่วมมือที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในการเป็นซุปเปอร์แบรนด์ชั้นนำในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้
คุณสขิลา บานเย็น ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการวางแผน กล่าวว่า “VML Thailand ไม่หยุดนิ่งในการศึกษาวิเคราะห์อย่างเจาะลึกจากข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ BAV นำมาประกอบกับข้อมูลส่วนอื่นอย่าง Focus Group รวมทั้งข้อมูลอินไซด์ที่ได้จากลูกค้ามาช่วยกันร่วมวางแผนร่วมวิเคราะห์ เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงจุดไหน หรืออะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ความกังวลใจ หรือตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะอะไร สู่การวางแผนและหา Solution ที่ตอบโจทย์ผ่านไอเดียและงานครีเอทีฟที่ทัชใจ พร้อมทั้งเชื้อเชิญให้ผู้บริโภคร่วมท่องสู่ประสบการณ์ใหม่ ๆ ตอบชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้นได้จริง ไปพร้อม ๆ กับแบรนด์นั้น นั่นคือความตั้งใจจริง และความจริงใจที่ VML Thailand ต้องการมอบให้กับทุกลูกค้า ในฐานะพาร์ทเนอร์จริง ๆ โดยเรามี Case Study ของแบรนด์ทั้ง Global Brand และ Local Brand ที่ร่วมพิสูจน์และพร้อมที่จะเติบโตเคียงคู่กับเรา ได้แก่
Global Brand “KFC” – โจทย์ของเคเอฟซี คือ การต่อยอดแบรนด์เป็นให้มากกว่าร้าน QSR แต่เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ของยุค ที่สามารถครองใจผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย เข้าถึงได้ทุกวัน โดยจับจุด Local Pride, Local Insight สร้างแคมเปญและนวัตกรรมที่เข้าถึงทุกคนอย่างต่อเนื่องบน Cultural Calendar ไม่ว่าจะเป็น ตะกร้าเฟสติเวอร์บักเก็ต, ธูปกลิ่นไก่ทอดสูตรผู้พัน จนมาถึงล่าสุด KFC Bucket Ware กล่องเก็บอาหารทรงบักเก็ต ทำให้เคเอฟซีรักษาความเป็น Rising Brand ในประเทศไทย ด้วย Brand Power ที่ 98.5% เพิ่มขึ้น 7.3% จากปี 2565
Local Brand “ROZA” – โจทย์ของโรซ่า คือ การยกภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ที่ร่วมสมัย เข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลกหรือการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาสร้างประสบการณ์ที่เป็นมากกว่าการทำอาหาร จนทำให้ปัจจุบันโรซ่าสามารถสร้าง Brand Power อยู่ที่ 76% เติบโตมากขึ้นถึง 33% จากปี 2565
การใช้ BAV เข้ามาสำรวจการรับรู้ ความรู้สึกของผู้คน เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานอย่างถูกทางและแม่นยำ ทำให้มองเห็นสถานะของแบรนด์ในใจผู้บริโภค ทิศทางที่กำลังจะไป และพัฒนาไอเดียไปสู่แนวทางการนำพาแบรนด์บรรลุสู่เป้าหมายอย่างรวดเร็ว”
ด้านคุณฐิติรัตน์ ตันติฤทธิศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “การนำเสนอเครื่องมืออย่าง BAV ในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกและกลยุทธ์ที่พร้อมช่วยลูกค้าเจาะอินไซด์ให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นที่เมื่อผสานกับเครื่องมืออื่น ๆ ของ VML Thailand ทำให้การบริการที่ครบวงจรแบบ End-to-End Creative Solution Service สามารถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเป็นการผสานความแข็งแกร่งของ นักกลยุทธ์ ครีเอทีฟ และนักวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีระดับโลก นำมาซึ่งการสร้างประสบการณ์ยอดเยี่ยมให้กับแบรนด์ (BX) ให้กับลูกค้า (CX) รวมถึงบริการคอมเมิร์ซ (CO) เพื่อนำไปสู่ Business Conversion ได้อย่าง Seamless โดยได้รับการพิสูจน์จากบริษัทและแบรนด์ชั้นนำที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างประสบการณ์ยอดเยี่ยมให้กับลูกค้า ได้รับผลตอบรับที่ดีในมิติต่าง ๆ ทั้งการช่วยลูกค้าให้วางแผนทิศทางและเป้าหมายทางธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น ความสร้างความประทับใจของผู้บริโภคในแต่ละทัชพ้อยท์ และการรักษาฐานลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”