เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เป็นเจ้าภาพจัดงานเปิดนิทรรศการ National Geographic Photo Ark ที่สยามพารากอน
[กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 17 กรกฎาคม 2567] – สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นเจ้าภาพเปิดงานนิทรรศการ National Geographic Photo Ark ภายใต้หัวข้อ “ภารกิจพิทักษ์สรรพสัตว์ผ่านภาพถ่าย” อย่างเป็นทางการที่สยามพารากอนในค่ำคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นิทรรศการนี้นำเสนอผลงานอันน่าทึ่งของโจเอล ซาร์ทอรี ช่างภาพและนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ผู้มีชื่อเสียง นิทรรศการเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ณ โซน Living Hall ชั้น 3 สยามพา รากอน
พิธีเปิดได้รับเกียรติจากนักอนุรักษ์ ผู้แทนสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้นำภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม ที่มาร่วมเฉลิมฉลองความสวยงามและความหลากหลายของโลกธรรมชาติ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับโลกในการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ว่า “นิทรรศการนี้นำเสนอความงามอันหาที่เปรียบไม่ได้ของสัตว์ป่าในโลกของเรา ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจที่ทรงพลังถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่เรามีร่วมกันเพื่อปกป้องโลกใบนี้ ไม่มีช่วงเวลาใดจะเร่งด่วนไปกว่าตอนนี้ ที่โลกของเรากำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในอัตราที่เร็วกว่าครั้งใด ๆ ในอดีต นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้” เอกอัครราชทูตโกเดคยังกล่าวด้วยว่า “ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของเราโดยเสมอมาและจะเป็นเช่นนั้นต่อไป และเราสองประเทศก็เป็นพันธมิตรใกล้ชิดในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่เรามีต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานเช่น สำนักงานกิจการปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ (FWS) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ร่วมมือกับภาคีชาวไทยเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่าในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เราทำงานร่วมกันในหลาย ๆ โครงการ ตั้งแต่การลดมลพิษทางอากาศไปจนถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสงวนรักษามรดกทางธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป”
โจเอล ซาร์ทอรี ผู้ริเริ่มโครงการ Photo Ark แสดงความขอบคุณสถานทูตสหรัฐฯ สำหรับการสนับสนุนและโอกาสในการบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย เขากล่าวว่าเขาหวังว่านิทรรศการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติและลงมือทำเพื่ออนุรักษ์ โดยกล่าวว่า “โครงการ Photo Ark เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้คนมองข้ามตัวเองและหันมาให้ความสำคัญกับสัตว์เหล่านี้ รวมทั้งช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดที่หลายคนคิดว่าอยู่ด้านล่างของห่วงโซ่อาหาร เช่น แมลง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้โลกมีเสถียรภาพ งานของผมคือการทำให้ผู้คนพยายามมีส่วนร่วมในแบบที่ผมรู้ ซึ่งก็คือในฐานะช่างภาพ”
นิทรรศการ Photo Ark ซึ่งมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก นำเสนอภาพถ่ายสัตว์อันน่าทึ่งจากทั่วโลก รวมถึงสัตว์หลายชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิทรรศการนี้จัดแสดงภายใต้การจัดการของผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ คุณทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพร่วมสมัยชื่อดังของไทย นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า และนำเสนอความร่วมมือสหรัฐฯ-ไทยในการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ขอขอบคุณหุ้นส่วน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัดและบริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บี.กริม รวมถึงสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ (ยูเนสโก กรุงเทพฯ) ที่ให้การสนับสนุนการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ทั้งนี้ชุดภาพถ่าย Photo Ark ได้รับการสนับสนุนจาก National Geographic Society
เกี่ยวกับนิทรรศการ National Geographic Photo Ark
นิทรรศการ National Geographic Photo Ark จะจัดแสดงภาพถ่ายสุดตราตรึงใจของซาร์ทอรี และเปิดโอกาสพิเศษให้ผู้เข้าชมได้ใกล้ชิดกับสรรพสัตว์ในชุดภาพถ่ายของโครงการ National Geographic Photo Ark รวมถึงสัตว์ประจำถิ่นของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิทรรศการดังกล่าวยังให้ความรู้กับผู้ชมเกี่ยวกับโครงการ เป้าหมาย และการดำเนินงานอนุรักษ์สัตว์ป่า ตลอดจนช่วยให้ผู้ชมทุกช่วงวัยมีส่วนร่วมผ่านเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โปรดเยี่ยมชม NatGeoPhotoArk.org เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Photo Ark และช่องทางการสนับสนุนความมุ่งมั่นของซาร์ทอรีในการเก็บภาพสิ่งมีชีวิตนานาชนิดบนโลกของเรา พร้อมทั้งมีส่วนช่วยอนุรักษ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และถิ่นที่อยู่ที่ถูกคุกคามของสัตว์เหล่านั้น
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ สนับสนุนความพยายามในการหยุดยั้งการลักลอบค้าสัตว์ป่าในไทย
สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนใกล้ชิดของไทยมาตลอด 2 ศตวรรษในความร่วมมือหลากหลายด้าน รวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานกิจการปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ (FWS) ฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด (INL) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ร่วมมือกับภาคีชาวไทยเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่าในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2567 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญออนไลน์ “Virtual Jungle Thailand” เพื่อส่งเสริมความพยายามของสหรัฐฯ และไทยในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพื่อหยุดยั้งการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้ที่ https://th.usembassy.gov/wildlife