สสว.ร่วมให้ความรู้ SMEs ไทยในเวที Digital SME Conference Thailand 2024

สสว.ร่วมให้ความรู้ SMEs ไทยในเวที Digital SME Conference Thailand 2024

สสว.ร่วมให้ความรู้ SMEs ไทยในเวที Digital SME Conference Thailand 2024

จบกันไปเป็นที่เรียบร้อยกับงาน Digital SME Conference Thailand 2024 โดยปีนี้ได้รับเกียรติและโอกาสจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาร่วมเป็นผู้สนับสนุนเพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ SMEs ไทยที่จะก้าวไปได้อย่างแข็งแรง โดย สสว. มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการรายย่อยขยายธุรกิจจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง และจากกลางสู่ขนาดใหญ่ต่อไป เพราะ SMEs คือรากฐานที่แท้จริง

งานนี้ได้รับเกียรติจาก คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้นกล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มการตลาดของ SMEs อีกทั้งยังได้แนะแนวทางการช่วยเหลือ ข้อมูล และเครื่องมือที่จะให้ผู้ประกอบการ SMEs ต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต รวมถึงยังมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุน และการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น

คุณวรพจน์ กล่าวถึงบทบาทการผลักดันจากรัฐบาลในการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปัจจุบันสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการติดต่อและเข้าถึงหน่วยงานได้สะดวกขึ้น และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ต่อยอดการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นในยุคที่ดิจิทัลเป็นบทบาทสำคัญ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ขึ้นมา โดยมีการใช้งานที่แตกต่างกันอยู่หลักๆ ได้แก่ SME ONE, SME Academy 365, SME Coach, Thai SME-GP และ SME Connect ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ SMEs ท่านไหนสนใจที่อยากจะสมัคร หรือการขอเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจก็ยังที่จะเข้าไปสมัครหรือเรียนรู้ได้ที่ bizportal.go.th

ในส่วนของตัวเลขผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยปัจจุบัน ถ้ารวมผู้ประกอบการทุกขนาดตั้งแต่ Micro ไปจนถึง Medium พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า 3,225,743 ธุรกิจ คิดเป็น GDP ในปี 2566 มากถึง 6,317,181 บาท หรือคิดเป็น GDP (มูลค่า %) ที่ SMEs สร้างได้ ถึง 35.2%

นั่นแสดงให้เห็นถึงพละกำลังของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยที่ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มุ่งเน้นที่ให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้เติบโตอย่างมั่นคง อีกทั้งยังสามารถออกไปสู่เวทีสากลได้อย่างภาคภูมิใจ และยังมีโครงการและมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS สัดส่วนการให้การอุดหนุนตามขนาดของธุรกิจที่ทาง สสว. นั้นจะเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยาม SME

คุณวรพจน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การมาของ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ประกอบการ SMEs เพราะก่อนหน้านี้จะมีผู้ประกอบการบางส่วนที่มักจะทําธุรกิจของตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันยังคงอยู่ได้ แต่พอ COVID-19 เข้ามาและผ่านไป รูปแบบธุรกิจดั้งเดิมได้รับผลกระทบทั้งหมด ในเรื่องของการทําการตลาดและเรื่องของการขายของ

“โจทย์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องตอบผู้ซื้อ คือตอนนี้ผู้ซื้อมีความหลากหลายสูงมาก สิ่งที่ SMEs ต้องทําก็คือต้องตอบให้ได้ว่าสินค้าของเราตอบโจทย์ความต้องการอยู่หรือไม่ จะมีคนซื้อสินค้าของเราไหม อันนั้นคือสิ่งที่เราสสว. เคยถามกับ SMEs เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการคิดว่าตัวเองสู้ไม่ได้ต้องปรับตัว แต่จะเริ่มปรับตัวอย่างไร สสว.เรามีโซลูชั่น มีงานบริการต่างๆ เป็นแพลตฟอร์มให้บริการในเรื่องของการที่จะแนะนํา สนับสนุนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเอง หรือจะยกระดับในเรื่องของธุรกิจของตัวเองที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี เราสามารถทําได้หมด

ที่สําคัญ สสว.เราไม่ทํางานคนเดียว เราทํางานร่วมกับทุกกระทรวง ทบวง กรมในการสนับสนุนส่งเสริม SMEs เช่น ถ้าอยากจะเข้าร่วมในงานการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เรามีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่จะแนะนําและส่งต่อ

ปัจจุบัน สสว. ทำงานแบบเน้นการเชื่อมต่อกันมากขึ้นเพราะว่าอย่างที่บอกว่าทุกหน่วยงานไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้า SMEs ต้องการในเชิงเชี่ยวชาญพิศษ เราก็สามารถส่งต่อได้เพราะปัจจุบันการทํางานของเราในระดับภาครัฐแน่นแฟ้นมากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบมากขึ้นทําให้การส่งต่อข้อมูลหรือส่งต่อผู้ประกอบการทําได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อธิบายเพิ่มเติมว่า ในภาพใหญ่ SMEs ส่วนมากวุ่นวายกับการทําธุรกิจของตัวเองในแต่ละวันอยู่แล้ว บางทีผู้ประกอบการก็ไม่สะดวกที่จะติดต่อเข้ามาในเวลาราชการ แต่พอสสว. เปิดข้อมูลในลักษณะของการเชื่อมโยงที่ให้ SMEs สามารถที่จะติดต่อเราได้ตลอดเวลา เช่น พิมพ์เข้ามาในแชตบอท หรือในเว็บบอร์ดของเรา ซึ่งตรงนี้ทําให้สสว. สามารถเข้าถึง SMEs ได้มากขึ้นกว่าเดิมมาก

คุณวรพจน์ ย้ำว่าโอกาสของ SMEs ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียังมีอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นก่อนกัน

“อย่างที่บอกว่าทุกวิกฤตเนี่ยจะมีโอกาสเสมอกับทุกสาขาธุรกิจหรือสาขาอุตสาหกรรม แน่นอนว่า COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงมาก แต่ถ้าให้มองดีๆ บางธุรกิจบางอุตสาหกรรมสามารถที่จะใช้โอกาสของการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ตัวอย่าง เช่น มีผู้ประกอบการที่ขายเสื้อยืด ซึ่งหลายคนมองว่าน่าจะเป็นขาลง แต่บางผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสการเปลี่ยนแปลงมาเน้นทำธุรกิจแบบดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งจนสามารถที่จะขยายตลาดสร้างยอดขายหลัก 100 ล้านบาท ได้ภายในเวลาไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทําก็คือ มองหาช่องว่างที่มาตอบโจทย์ Customer Pain Point ให้ได้ว่าคืออะไร ถ้าเราตอบโจทย์ได้นั่นหมายความว่าเราเจอโอกาสทางธุรกิจที่จะขับเคลื่อนต่อธุรกิจของเราต่อได้”

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็น SMEs ที่อยู่ในระบบหรือขึ้นทะเบียนกับสสว.ประมาณ 300,000 ราย หรือ 10% เท่านั้น เราต้องการที่ให้ SMEs เข้าถึงเราและเราเข้าหา SMEs ได้มากที่สุด หมายความว่าเราต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ล้านรายเข้าหาเราให้ได้มากที่สุด สสว.ก็ต้องสร้างสิทธิประโยชน์ให้ทำผู้ประกอบการรู้สึกว่าเข้ามาแล้วได้ประโยชน์ ตรงนี้คือหน้าที่ของสสว. ที่ต้องทํา

“สำหรับ SMEs ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ภาครัฐเราเองมีความท้าทายเรื่องหนึ่ง คือการสร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ หรือ Trust สิ่งที่ผมทํางานกับสสว.มามากกว่า 15 ปี ผมเรียนรู้อย่างหนึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการจํานวนหลายพันคนพบว่า ผู้ประกอบการที่ประสบความสําเร็จทุกคน อย่างน้อยจะเคยเข้าร่วมงานสนับสนุนจากภาครัฐหนึ่งครั้งเสมอ จริงๆ ภาครัฐเป็นเสมือนเป็นบันไดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวในการที่จะเข้ามา ผมอยากจะกระตุ้นให้ SMEs เดินเข้ามาหาภาครัฐ เราพร้อมจะจับมือท่านแล้วส่งเสริมท่านเดินไปด้วยกัน ภาครัฐเองยินดีทําทุกอย่างที่จะช่วยเหลือสนับสนุนทุกคน”

เมื่อถูกถามถึงความท้าทายของสสว. ในปัจจุบัน คุณวรพจน์ อธิบายว่า ความท้าทายสสว. อย่างแรก คือต้องทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นในตัวสสว.ว่า สสว.จะเป็นพาร์ทเนอร์ นั่นหมายความว่าสิ่งที่สสว. ทําคือส่งเสริมไม่ได้ทําในเรื่องของการติดตาม หรือตรวจสอบ สิ่งที่ท้าทายคืออยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการส่งเสริมของสสว.

“ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ระบบผ่านทางช่องทางนี้ มีผู้ประกอบการบางรายมักจะส่งไลน์หรือว่าส่งคําถามมาหาเราในช่วงเวลาดึกๆ ตีหนึ่ง ตีสอง นั่นหมายความว่าทุกคนมีช่วงเวลาว่างที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นในอดีตการส่งเสริมของภาครัฐหรือการทํางานของภาครัฐมันจํากัดด้วยเวลาราชการ แต่ปัจจุบันนี้มันถูกทําลายไปแล้วด้วยระบบดิจิทัล

เรื่องที่ 2 คือเราก็ต้องเร่งพัฒนาให้ผู้ประกอบการเข้าหาเราให้สะดวกที่สุดเท่าที่จะทําได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายที่สสว. เราพยายามพัฒนาอยู่ตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาล”

(เครดิต:https://www.brandage.com/article/40329)

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ที่เมล์ : pr@prfreeonline.com Line : @649dwyqd

ใส่ความเห็น

Back To Top