กรุเทพฯ ประเทศไทย 21 สิงหาคม 2562 – จากการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคของวีซ่า[1] (Visa Consumer Payment Attitudes Survey) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดการชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต โดยผลสำรวจฉบับนี้ศึกษาถึงทัศนคติ และพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์การใช้จ่ายสำคัญของผู้บริโภคจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน จากแปดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 500 คนจากประเทศไทย
จากผลสำรวจพบว่า เกือบสองในสามของคนไทย (64 เปอร์เซ็นต์) มีความประสงค์ที่จะชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของตนเอง และ 67 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการใช้บัตรคอนแทคเลส หรือ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในการชำระค่าโดยสารฯ อีกด้วย
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วีซ่าได้ร่วมมือกับกว่า 120 หัวเมืองหลักทั่วโลกในการวางระบบการชำระเงินแบบเปิด (Open-loop payment) สำหรับการขนส่งสาธารณะซึ่งจะเห็นได้ว่ามหานครขนาดใหญ่ อย่าง ลอนดอน นิวยอร์ค สิงคโปร์ และ ซิดนีย์ ได้มีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดในการชำระเงินค่าขนส่งสาธารณะ มาเป็นการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่ง ไปยังจุดหนึ่งได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น”
“ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการด้านขนส่งมวลชนที่ใช้รูปแบบการชำระเงินระบบเปิด ยังสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงาน ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร รวมไปถึงการช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้อีกด้วย ซึ่งอ้างอิงถึงผลสำรวจของวีซ่า หัวข้อรายงานสังคมไร้เงินสด[2] (Visa Cashless Cities Report) พบว่า ผู้ให้บริการด้านการขนส่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14.5 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ในการเก็บเงินสด เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเงินดิจิตอลจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 4.2 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์เท่านั้น” นายสุริพงษ์ กล่าวเสริม
[1] การสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า จัดทำโดย Intuit Research ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ในแปดประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานจากประเทศไทยจำนวน 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ครอบคลุมในทุกระดับการศึกษาและมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาท เป็นต้นไป
[2] ผลสำรวจของ วีซ่า เกี่ยวกับเมืองไร้เงินสด จัดทำโดย Roubini ThoughtLab ในปี 2560 ครอบคลุมกว่า 100 เมืองใน 80 ประเทศทั่วโลก