วว. วิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิตมะขามป้อม…ช่วยลดการสะสมแคดเมียมในร่างกาย
“มะขามป้อม” หรือ มะขามป้อมอินเดีย เป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Phyllanthaceae เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica Linn. จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับมะยม คือ ตระกูล Phyllanthus พบมากในแถบเอเชียเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้น คดงอ ไม่ตรง เปลือกนอกของลำต้น มีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนเปลือกในเป็นสีชมพูสด ใบเป็นช่อ เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบโค้งมน ขอบใบเรียบ มีสีเขียวอ่อน เรียงชิดติดกันบนก้านใบ มีดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อนเล็กๆ รวมอยู่บนกิ่งเดียวกัน ออกดอกประมาณเดือนกันยายน ผลกลม เนื้อหนา สีเขียว ผลอ่อน สีเขียวอ่อนและผลแก่ สีเขียวอมเหลือง ค่อนข้างใส ผลรับประทานได้ มีรสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน เก็บผลผลิต ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
โดยทั่วไปนิยมรับประทานผลสดมะขามป้อม และนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางและยาสมุนไพร เนื่องจากมีสารแทนนิน (Tannin) และวิตามินซีสูง โดยปริมาณแทนนินและวิตามินซีจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ โดยจะพบแทนนินทั้งในลำต้นและผลของมะขามป้อม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการการศึกษาการเขตกรรม ส่งเสริมการปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อมในการปลูกเป็นการค้า ภายใต้ แผนงานการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มะขามป้อมเชิงพาณิชย์ ดำเนินการศึกษาและรวบรวมมะขามป้อมจากจังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยได้ดำเนินการปลูกและรวบรวมสายพันธุ์ไว้ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ประสบผลสำเร็จในการคัดเลือกและรวบรวมสายพันธุ์มะขามป้อมได้มากกว่า 26 สายพันธุ์ และพัฒนาให้มีผลขนาดใหญ่ ปริมาณเนื้อมาก มีความเหมาะสมในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และส่งเสริมให้มีการปลูกมะขามป้อมพันธุ์ดี เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง
นอกจากนั้น วว. ได้ศึกษาพบว่า มะขามป้อมทั้ง 26 สายพันธุ์ มีปริมาณสารแทนนินในผลปริมาณสูงระหว่าง 145.4±9.6 – 445.9±8.4 mg/gDW
ทั้งนี้ “สารแทนนิน” เป็นสารที่พบได้ในพืชที่มีรสฝาด โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับจากการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแทนนินเป็นส่วนประกอบ มีคุณสมบัติเด่น คือ ช่วยลดปริมาณแคดเมียมในร่างกายได้ โดยการรวมตัวกับ แคดเมียม (Cadmium : เป็นโลหะหนัก หากร่างกายได้รับและมีการสะสมเป็นระยะเวลานาน สามารถทำอันตรายสมองได้ ทำให้เกิดโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งปอด ต่อมลูกหมากและไต เป็นต้น) ให้อยู่ในรูปของคีเลท (Celate : สารที่มีโครงสร้างเป็นวงแหวน) ซึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้แทนนินยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยในการปรับปรุงระบบการย่อยไนโตรเจน ช่วยให้ลดปริมาณไนโตรเจนที่ขับออกจากร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ไนโตรเจนของร่างกาย
ดังนั้น “แทนนินจากมะขามป้อม” จึงเป็นสารสำคัญที่น่าสนใจ ในการนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาเพื่อลดปริมาณแคดเมียมที่ได้รับและสะสมในร่างกาย รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อลดปริมาณแคดเมียมที่ปนเปื้อนได้
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์แทนนินในอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ การลดปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียมในกระบวนการผลิตน้ำปลาในญี่ปุ่น ซึ่งสามารถลดปริมาณแคดเมียมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำปลา เป็นต้น
นอกจากการรวบรวมสายพันธุ์ของมะขามป้อมแล้ว วว. ยังมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและสกัดสารสำคัญโดยนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ดังนี้
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. ดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากมะขามป้อม ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา 5 ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขามป้อม อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินซี สารแทนนิน พอลิฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และสารออกฤทธิ์ชีวภาพอื่นๆ ที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย ช่วยแก้หวัด ลดไข้ แก้ไอ และขับเสมหะ ได้แก่ 1) มะขามป้อมแช่อิ่ม 2) มะขามป้อมลอยแก้ว 3) มะขามป้อมแผ่น 4) กัมมี่มะขามป้อม และ 5) น้ำไซเดอร์มะขามป้อม
ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากมะขามป้อม ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง Emsoftra® คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับผิว สำหรับผม และสำหรับช่องปาก
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์โดยรวม คือ มีส่วนผสมของสารสกัดผลมะขามป้อมและสารสกัดผลมะแขว่นในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มฤทธิ์ชีวภาพของสมุนไพรให้แก่ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ และฤทธิ์ต้านอักเสบ
โดยผลวิจัยของ วว. พบว่า เมื่อนำสารสกัดเอทานอล-น้ำ จากผลมะขามป้อมมาผสมกับสารสกัดผลมะแขว่นในสัดส่วนที่ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว จะช่วยเพิ่มฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัด และทำให้ได้สารสกัดสมุนไพรผสมที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน และมีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ วว. พัฒนาขึ้นนั้น มีคุณสมบัติโดดเด่นและแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ท้องตลาด ตอบโจทย์ผู้บริโภคเกี่ยวกับการบำรุงผิว บำรุงผม ต้านจุลินทรีย์และต้านอักเสบ นอกจากนี้ด้วยฤทธิ์ต้านอักเสบที่ดีของสารสกัดสมุนไพรยังช่วยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวที่แพ้ง่ายด้วย
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า “มะขามป้อม” มีคุณประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งในสรรพคุณทางโภชนาการและการประยุกต์ใช้สารสกัดเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดย วว. มุ่งวิจัยและพัฒนานำสารสกัดของมะขามป้อมไปใช้ประโยชน์ในสาขาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนนโยบายการนำทรัพยากรชีวภาพในประเทศมาใช้ให้เกิดคุณค่าสูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและพาณิชย์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากมะขามป้อมสู่เชิงพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail : marketing_tistr@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP”