รมช.ศธ เปิดงานการแข่งขัน “ฟิสิกส์สัประยุทธ์”

รมช.ศธ เปิดงานการแข่งขัน “ฟิสิกส์สัประยุทธ์”

รมช.ศธ เปิดงานการแข่งขัน “ฟิสิกส์สัประยุทธ์”

10 ศูนย์ โรงเรียน พสวท. ณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

วันที่ 10 มีนาคม 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “การจัดกิจกรรมในโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนโครงการห้องเรียน พสวท. (สู่ความเป็นเลิศ) ผ่านกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ “ฟิสิกส์สัประยุทธ์” ประจำปี พ.ศ. 2568 สำหรับนักเรียนโครงการห้องเรียน พสวท. (สู่ความเป็นเลิศ) : การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ประจำปี พ.ศ. 2568″ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดร.กัญญาพัชญ์ กานต์ภูวนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน 10 ศุนย์ พสวท. ทั่วประเทศ ครู เจ้าหน้าที่ และทีมนักเรียนทุน พสวท. นักเรียนในโครงการห้องเรียน พสวท. (สู่ความเป็นเลิศ) ที่เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 10 ทีม รวม 50 คน จากศูนย์ พสวท. ระดับมัธยมศึกษา 10 ศูนย์ ร่วมในพิธีเปิดงานโดยพร้อมเพรียงกัน จัดโดย สสวท. ร่วมกับโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จัดระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ เป็นกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังเป็นกิจกรรมที่บูรณาการสมรรถนะที่สำคัญทั้งสมรรถนะการแก้ปัญหา และสมรรถนะการสื่อสาร อันจะเป็นประโยชน์ ทั้งในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพได้ และขอให้กำลังใจนักเรียนทุกคน ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในอนาคตต่อไป

ดร.กัญญาพัชญ์ กานต์ภูวนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะการนำเสนอ อธิบายแนวคิดทางฟิสิกส์ที่ซับซ้อน ให้เข้าใจง่าย และพัฒนาความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์และการตอบโต้ ทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์และเพื่อสร้างเครือข่ายนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสนใจด้านฟิสิกส์ได้แลกเปลี่ยนความรู้

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. ได้บรรยายถึงจุดเริ่มต้นโครงการ พสวท. ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 มีการจัดตั้งศูนย์ พสวท. ระดับโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงรับนักเรียนทุน พสวท. รุ่นแรก ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 29 คน และปัจจุบันมีศูนย์ พสวท. มัธยมศึกษา ทั้งหมด 10 แห่งรับนักเรียนทุน ม.ปลาย ปีละไม่เกิน 40 คน ซึ่งศูนย์ พสวท. ระดับโรงเรียนมีบทบาทสนับสนุนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมเสริมประสบการณ์ทางวิชาการ และกิจกรรมต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้ที่มีโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดย สสวท. และศูนย์ พสวท. ระดับโรงเรียนจะก้าวไปด้วยกันร่วมเป็นเครือข่ายการดูแลผู้รับทุน พสวท. ร่วมมือ สนับสนุน เชื่อมโยง ส่งเสริม พัฒนาร่วมกัน

จุดเด่นของการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์นี้ เสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยเชิงทดลองให้กับนักเรียน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บทบาทที่จำเป็นในการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ กลวิธีการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ รวมทั้งยังมีการทดลองและการแข่งขันทางฟิสิกส์ ประสบการณ์ที่นักเรียนจะได้รับสามารถนำไปเป็นพื้นฐานใช้ต่อยอดในการทำโครงการ ทำวิจัย การศึกษาเรียนรู้ในที่ระดับสูงขึ้นได้ด้วย

รูปแบบการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ มีการโต้ตอบกันระหว่าง 3 บทบาท เริ่มต้นด้วยฝ่ายนำเสนอต้องนำเสนอโจทย์และวิธีการทดลองเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ของโจทย์จากหลักฐานการทดลอง ทฤษฎี หรือตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายซักค้านจะต้องหาจุดอ่อนของฝ่ายนำเสนอ เพื่อค้านข้อเสนอของฝ่ายนำเสนอ จากหลักฐานการทดลอง ทฤษฎี หรือตัวแปรอื่น ๆ ที่ตนเองยกมา และฝ่ายวิพากษ์จะเป็นผู้สรุปการโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสิน ฝ่ายใดแสดงบทบาทและทำการทดลองได้ครอบคลุมตามที่โจทย์กำหนดมากที่สุดตามเกณฑ์ในการให้คะแนนของการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ดังนั้น ในกระบวนการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์จึงเกิดการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นไปพร้อมกัน เริ่มจากฝ่ายนำเสนอที่ต้องยกข้อกล่าวอ้าง (claim) หลักฐาน (evidence) จากการทดลอง และเหตุผล (rationale) สมมติฐาน หรือทฤษฎีมาใช้อธิบายการทดลองของตนเอง เช่น เดียวกันกับฝ่ายซักค้านที่ต้องหาข้อกล่าวอ้างเพื่อค้านผลการกล่าวอ้างของฝ่ายนำเสนอจากหลักฐานและเหตุผล ด้วยเหตุผลนี้การส่งเสริมทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ในการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นถึงประเด็นเชื่อมโยงและการพัฒนารูปแบบการแข่งขันหรือพัฒนาทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพและได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อไป
ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 ทีม จะเป็นตัวแทนทีมฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับเครือข่ายฯ ที่ได้รับสิทธิไปเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ จะคัดเลือกนักเรียนจาก 3 กลุ่มคือ กลุ่มโรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (SMTE) กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และกลุ่มเครือข่ายนักเรียนทุน พสวท. และนักเรียนในโครงการห้องเรียน พสวท. (สู่ความเป็นเลิศ)

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ที่เมล์ : pr@prfreeonline.com Line : @649dwyqd

ใส่ความเห็น

Back To Top