มอบรางวัล ‘สุรินทราชา’ ปี 2566 ใน ‘วันนักแปลและล่าม’ ครั้งที่ 16
24 พฤษภาคม กรุงเทพ – เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 14.00-17.00 น. สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (TIAT) ได้จัดงาน “วันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 16 และพิธีมอบรางวัลสุรินทราชา” ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 120 คน จากสำนักพิมพ์ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแปลและวรรณกรรม อาทิ ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์ผีเสื้อ สำนักพิมพ์ยิปซี สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์ วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ บรรยากาศงานเป็นไปอย่างอบอุ่นและสง่างาม
สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (TIAT) จัดงานวันนักแปลและล่ามเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 16 วัตถุประสงค์หลักของงานคือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของมิตรสหายนักแปลและล่าม ตลอดจนเป็นเวทีมอบรางวัลสุรินทราชาอันทรงเกียรติแก่นักแปลและล่ามดีเด่นประจำปี “รางวัลสุรินทราชา เป็นรางวัลที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยตั้งใจจัดขึ้นเพื่อชื่นชมนักแปลและล่ามที่พาเราไปท่องเที่ยวในดินแดนแห่งจินตนาการ ย้อนเวลา เที่ยวรอบโลก รู้จักความรัก แวะเข้าครัว อ่านข่าวสาร ซาบซึ้งในพระศาสนา ทำให้เราร้องไห้ ขนลุก ขมวดคิ้ว และอีกมากมายหลายอารมณ์” ปกรณ์ กฤษประจันต์ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยกล่าว
สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยจัดตั้ง “รางวัลสุรินทราชา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาสุรินทราชา นามเดิมคือ นกยูง วิเศษกุล ผู้แปลนวนิยายเรื่อง Vendetta ของ Marie Corelli เป็นภาษาไทยในชื่อ “ความพยาบาท” และตีพิมพ์ในหนังสือ ลักวิทยา เล่มที่ 2 ปี พ.ศ. 2544 นับเป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกในเมืองไทยที่ยังคงเป็นที่รู้จักถึงปัจจุบัน
A person wearing glasses
Description automatically generated with low confidenceA person holding a book
Description automatically generatedA person holding a book
Description automatically generated with low confidence
A group of people posing for a photo
Description automatically generated with low confidence
ผู้รับรางวัลสุรินทราชาสาขานักแปลดีเด่นประจำปี 2566 มีทั้งหมด 11 ท่าน และสาขาล่ามดีเด่นมีทั้งหมด 1 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้
1. พระมหาอานนท์ อานนฺโท, ผศ. ดร. – ผู้แปลตำราพุทธศาสนาภาษาจีน-ไทย-บาลี
2. นางฉวีวงศ์ อัศวเสนา (ซากุไร) – ผู้แปลนวนิยายญี่ปุ่น
3. นางสาวเฉิดฉวี แสงจันทร์ – ผู้แปล เดเมียน
4. นายโตมร ศุขปรีชา – นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ
5. นางสาวทิภาพร เยี่ยมวัฒนา – ผู้แปลหนังสือแนวพัฒนาตนเองและนิยายจีน
6. นางธิดา จงนิรามัยสถิต – ผู้แปลหนังสือวิทยาศาสตร์และปกรณัมชุด มิดเดิ้ลเอิร์ธ
7. นายประมวล โกมารทัต – ล่าม นักแปล นักเขียน และที่ปรึกษา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
8. นางมะลิวัลย์ ซีมอน (‘สีมน’) – ผู้แปล สิทธารถะ
9. ผศ. รัศมี กฤษณมิษ (จันทร์ประภาพ) – ผู้แปล กุ๊ชโฉ่ และ ปลูกฝันไว้ในแผ่นดิน
10. ศ.ดร. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน
11. ผศ.ดร. สงหราน (Assistant Professor RAN XIONG, Ph.D) – ผู้แปลนวนิยาย ลูกอีสาน เป็นภาษาจีน
12. พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล (เนียมลอย) – ล่ามการประชุม
A person sitting on a couch holding a microphone
Description automatically generated with medium confidence
A person sitting on a stage holding a microphone
Description automatically generated with medium confidence
ภายในงาน ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Translation as a Cultural Agent” หรือการแปลในฐานะทูตทางวัฒนธรรม โดยนำประสบการณ์การศึกษา คิดค้นวิธีการอนุรักษ์และถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในนิทรรศการต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง “…อย่างในเรื่องรามายณะ มุมมองของการลงโทษนางสำมนักขาในอินเดียเหนือและอินเดียใต้จะแตกต่างกัน ทางตอนเหนือจมูกคือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ของสตรีและเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ชาวอินเดียเหนือจึงเชื่อว่าการตัดจมูกเป็นการลดทอนคุณค่าของสตรี ในขณะที่ชาวทมิฬหรืออินเดียใต้มองว่าการตัดนมเป็นบทลงโทษที่รุนแรงกว่า เพราะนมแสดงความงามของสตรี นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าความหมายจะเปลี่ยนไปตามบริบทและพื้นที่ ในฐานะนักแปลเราต้องตีความต้นฉบับ พื้นผิวของความหมายอาจเปลี่ยนไป แต่เราต้องสะท้อนความคิดของผู้เขียนและส่งข้อความให้ถึงคนอื่นมากกว่าเดิม ความยากของรามเกียรติ์คือ “ความกล้าเปลี่ยน” เพราะเรื่องรามเกียรติ์เปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว”
A person sitting on a chair holding a microphone
Description automatically generated with medium confidenceA person sitting on a couch with a projector screen
Description automatically generated with medium confidence
ช่วงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Translation: On Getting ‘More’ Global” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปทมา อัตนโถ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ผันตัวมาเป็นดาว TikTok ที่คนรุ่นใหม่รู้จักในฐานะ “ครูปุ้ม” ได้แชร์ลักษณะเฉพาะของงานแปลภาษาไทยที่ก้าวข้ามขอบเขตโลกาภิวัตน์ ” …เดี๋ยวนี้ถ้าพูดว่า Globalization หรือโลกาภิวัตน์คือเชยแล้วค่ะ การแปลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นกระบวนการตัดสินใจว่าจะเลือกวัฒนธรรมหรืออะไร ยกตัวอย่างเช่น ในต้นฉบับเรื่องหนึ่งมีฉากพระเอกกำลังขอนางเอกแต่งงานริมหาด นักเขียนบรรยายว่ามีนก “Sand Piper” ส่งเสียงร้อง เราจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “นกอีก๋อย” หรือ (หัวเราะ)บรรยากาศจะโรแมนติกแบบต้นฉบับมั้ย หรือเราจะเลือกทับศัพท์ หรือเราจะเปลี่ยนเป็นนกนางนวล” นอกจากงานแปลจะเปลี่ยนไปแล้วภาษาไทยเองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “วรรณยุกต์ภาษาไทยเปลี่ยนไปมาก คนพูดเสียงสูงขึ้น นอกจากนี้ลำดับคำขยายภาษาไทยก็เปลี่ยนไป เช่น ‘โคตรร้อน’ เราพูดว่า ‘ร้อนโคตร’ หรือ ‘เปิด 24 ชั่วโมง’ เราทอนเหลือ ‘เปิด 24’ เท่านั้น” เมื่อพูดถึงกระแสโลกที่เปลี่ยนไป คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ก็มีบทบาทไม่น้อย “AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทมาก แต่ AI ก็คือคนป้อนเข้าไป งานแปลธรรมดาอาจจะช่วยลดภาระได้ แต่ถ้าเป็นงานแปลสร้างสรรค์อาจจะยังไม่ได้เร็วๆ นี้ ยกตัวอย่างเช่นคำขยายที่ลงท้ายด้วย -ly เช่น ‘eagerly’ ก็ชอบจัง ต้องแปลว่า “อย่าง…” เราลืมไปแล้วว่าภาษาไทยมีคำ 4 พยางค์ที่สวยงามหลายคำ เช่น ‘กุลีกุจอ’ ‘กระวีกระวาด’ ฯลฯ ยังไงการแปลแบบ Machine translation ก็ยังทำไม่ได้ ภาษาและวัฒนธรรมยังคงต้องอยู่”
วันนักแปลและล่ามครั้งที่ 16 จบลงอย่างอบอุ่น โดยอาจารย์บุญญรัตน์ บุญญาทิษฐาน ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมฯ และเป็นนักแปลระดับตำนานของประเทศไทยผู้มีผลงานแปลมากกว่า 400 ชิ้น ได้กล่าวแสดงความยินดีและนำกลอนของ อ. ชมัยภร แสงกระจ่างมากล่าวทิ้งท้าย
A person sitting on a couch in front of a large screen
Description automatically generated with low confidence
“จงอย่าหวังเป็นต้นอะไรที่ใหญ่หลวง
จงสร้างงานทั้งปวงด้วยใจศิลป์
อาจเป็นแค่หญ้าเตี้ยต่ำเรี่ยดิน
แต่ทั้งสิ้นคือชีวิตในป่าไพร
ใครจะเป็นต้นไทรหรือต้นโพธิ์
เพราะเม็ดพันธุ์ยืนโก้ในป่าใหญ่
ป่าหนึ่งไม่ได้มีเพียงต้นใด
แต่ทุกต้นย่อมอยู่ในป่าทั้งนั้น
เราอาจเป็นไม้ร่มหรือไม้เลื้อย
เราอาจขม อาจหวานหรือเฝื่อนฝาด
เราอาจผิดแผกแตกต่างกัน
แต่เราล้วนเป็นพืชพรรณป่าวรรณกรรม
จงภูมิใจในต้นที่ตัวเป็น
บำรุงต้นให้คนเห็นเช้าจรดค่ำ
ใหญ่เล็ก ขอให้ใครๆ จำ
เป็นต้นไม้งามล้ำ ต้นเราเอง”