มนต์เสน่ห์ดวงจันทร์สร้างสรรค์จินตนาการ เรียนรู้ปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับดวงจันทร์กับสื่อ สสวท.
เสน่ห์ของดวงจันทร์ ส่งพลังสร้างสรรค์เหนือกาลเวลา
ความงามของดวงจันทร์ตรึงตราตรึงใจนำแรงบันดาลใจมาสู่มนุษยชาติ โลกตะวันตกมีตำนานของไดอาน่า ในชื่อโรมัน หรืออีกนัยหนึ่ง อาร์เทมิส ในชื่อกรีก เทพีแห่งดวงจันทร์
กันยายนซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวพืชผล เช่น ข้าวโพด ถั่ว ข้าว แสงจันทร์เพ็ญในเดือนนี้สว่างมากพอที่จะช่วยให้ชาวนาของยุโรปเก็บเกี่ยวพืชผลได้นานขึ้นในช่วงกลางคืน จึงได้เรียกว่า”ดวงจันทร์เก็บเกี่ยว”หรือบางที่เรียกว่า “ดวงจันทร์ข้าวโพด” (Corn Moon)
โลกตะวันออกมีตำนานของ”ฉางเอ๋อร์”เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ที่กลายมาเป็นชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนส่งไปปฏิบัติภารกิจอวกาศลุล่วง จนปัจจุบันก้าวหน้าถึงฉางเอ๋อ-6 แล้ว
อุปรากรจีน “เปาบุ้นจิ้น” ใต้เท้าเปาแห่งศาลไคฟง ผู้ลือเลื่องในกิตติศัพท์ความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ถูกตำนานแต่งเติมให้มีรูปจันทร์เสี้ยวที่กลางหน้าผาก เป็นสัญญลักษณ์ของขุนนางดีผู้ทำฟ้าให้แจ่มกระจ่างสว่างใสด้วยความยุติธรรม
ทะเลสาบจันทร์เสี้ยว (Crescent Lake) ในมณฑลกานซูภาคตะวันตกของจีนที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย เป็นดั่งโอเอซิสเล็ก ๆ ที่น่าทึ่ง ท้าทายกาลเวลา สถานที่ท่องเที่ยวตระการตาท่ามกลางฟ้าจรดทราย
หรือแม้แต่นิทานพื้นบ้านไทย “ศรีธนญชัย” ก็ปราชัยให้กับคู่ปรับด้วย “เงาจันทร์ดวงที่สองในบ่อน้ำ”
จินตนาการของมนุษย์ช่างสุดไกลไร้พรมแดน
สำหรับประเพณีลอยกระทงของบ้านเราก็มี จันทร์เต็มดวงสุกสกาว เป็นจุดเด่นสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยวันลอยกระทงของทุกปี คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
จันทร์เพ็ญยังมีความรู้น่าค้นหาอีกมากมาย พกจินตนาการพาชั้นเรียนไปตามหากันได้ที่ คลังความรู้ SciMath สสวท. https://www.scimath.org/index.php/article-earthscience/item/12605-2022-07-25-08-20-30-9 กับบทความ “นานาชื่อจันทร์เพ็ญในเดือนต่าง ๆ ของมนุษย์” ที่บอกเล่าถึงจันทร์เพ็ญวันลอยกระทงว่าตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งจันทร์เพ็ญอยู่บริเวณกระจุกดาวลูกไก่ที่ได้ชื่อว่าเป็น กิตติกาฤกษ์
เมื่อจันทร์เพ็ญอยู่บริเวณกระจุกดาวลูกไก่ในกลุ่มดาววัว ดวงอาทิตย์จะอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่องหรือกลุ่มดาวเดือนพฤศจิกายน จันทร์เพ็ญวันลอยกระทงจึงอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567
ขณะเดียวกันจันทร์เพ็ญวันลอยกระทงนั้น ก็จะขึ้นทางตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากกว่าจันทร์เพ็ญสำคัญอื่น ๆ และเป็นจันทร์เพ็ญ ที่งดงามกระจ่างฟ้าได้นานกว่าปกติ โดยอาจเห็นนานถึง 13 ชั่วโมงทีเดียว
นอกจากจะเป็นโอกาสอันดีที่หนุ่มสาว มิตรสหาย จะได้ไปเที่ยวงานลอยกระทงในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่งแล้ว ยังเป็น อีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของเทศกาลไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง” ยังบอกอะไรกับเราอีกบ้าง ใช่แล้ว ! “ปรากฎการณ์น้ำขึ้น น้ำลง” และ “ปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรม” ซึ่งมีดวงจันทร์เป็นพระเอกด้วยไงล่ะ
ดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงสว่างในตนเอง แต่ที่มีแสงสว่างได้เพราะได้รับแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ในขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์มีลักษณะคล้ายทรงกลมทึบแสง เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ตกกระทบดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะสว่างครึ่งดวงเสมอ เมื่อดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงตำแหน่งขณะโคจรรอบโลก คนบนโลกจึงมองเห็นส่วนสว่างของดวงจันทร์หรือส่วนที่ได้รับแสงเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ข้างขึ้น ข้างแรม”
ขณะเดียวกันแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ซึ่งเป็นแรงดึงดูด ทำให้เกิดแรงที่เรียกว่า “แรงไทดัล” (Tidal force) ซึ่งมีแรงกระทำดึงน้ำให้เป็นรูปทรงรี ทำให้ระดับน้ำบนโลกเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำบนผิวโลกในรอบวันนี้เรียกว่า “ปรากฎการณ์น้ำขึ้น น้ำลง”
เรียนรู้ทำความเข้าใจจันทร์เพ็ญเด่นฟ้ากับวิทยาศาสตร์ด้วยสื่อการเรียนรู้ วีดิทัศน์ “ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์” ที่อธิบายปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรม การเปลี่ยนแปลงเวลาขึ้นและตกของดวงจันทร์ และ น้ำขึ้น น้ำลง หนังสือเรียน สสวท.วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่ม 1 ที่ คลังสื่อการสอน MyIPST สสวท. https://myipst.ipst.ac.th/medias/ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์
ดวงจันทร์สุกสกาวทอแสงนวลใย สร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการ ดวงจันทร์ยังส่งผลสำคัญกับโลกไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ข้างขึ้น ข้างแรม ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่สร้างความตื่นใจให้นักดาราศาสตร์และชาวโลกทุกครั้ง
ดวงจันทร์ยังสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้มนุษย์อีกบ้าง…….เล่าสู่กันฟัง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
ดวงจันทร์ทำไมจึงมีหลายรูปแบบ https://www.scimath.org/index.php/lesson-physics/item/7294-moon
แรงไทดัล https://myipst.ipst.ac.th/medias/search?keyword=แรงไทดัล
การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์ใน 3 เดือน https://www.scimath.org/video-science/item/7846-3
https://www.facebook.com/ipst.thai/posts/pfbid0QuLUxcxF3FxaVQytgBz1hzK9BCuRrVsZK1dmvktiCDW9YygRcJsGur6mrMajeJoSl
สมาคมดาราศาสตร์ https://thaiastro.nectec.or.th/news/5309/
ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_25133
จุดจบศรีธนญชัย https://www.oknation.net/post/detail/634d5f242825e77c52dbcc61