“ดีพร้อม” ปั้นผู้ประกอบการด้าน EV ทั่วประเทศ หวังดึงผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ซัพพลายเชน EV ทั้งระบบ บูมเศรษฐกิจกว่า 27.5 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 23 สิงหาคม 2567 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจรทั่วประเทศ เดินหน้านำร่องในภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ เพื่อรองรับการเติบโตของรถ EV อย่างก้าวกระโดด หวังผู้ประกอบการไทยทุกระดับได้รับประโยชน์จากการเติบโตของรถ EV อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภคใช้รถ EV ได้อย่างราบรื่น คาดจะสร้างผู้ประกอบการด้าน EV ได้มากกว่า 360 ราย เกิดมูลค่าธุรกิจกว่า 27.5 ล้านบาท
นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของคนไทยมากขึ้น เห็นได้จากยอดการใช้รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% หรือ BEV ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสถิติของกรมขนส่งทางบก ระบุว่า ปี 2020 มียอดจดทะเบียนรถ BEV สะสมเพียง 5,685 คัน ปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 11,382 คัน ปี 2022 เพิ่มเป็น 32,081 คัน และในปี 2023 พุ่งทะลุไปถึง 131,856 คัน และล่าสุด ยอดสะสมรวมจนถึงเดือน ก.พ. ปี 2024 มีจำนวนเพิ่มเป็น 154,027 คัน มากกว่ายอดสะสมในปีก่อนทั้งปี คิดเป็น 20.5% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งหากรวมรถยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) แล้วก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 4.25 แสนคัน
ทั้งนี้ จากการขยายตัวของการใช้รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว หากขาดระบบซัพพลายเชน และอีโคซิสเท็มที่ดีอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ EV ทั่วทั้งประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ของนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มและประสิทธิภาพกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรม “สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้และจูงใจให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เห็นความสำคัญของการปรับกลยุทธ์ธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต สู่โอกาสในการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก ให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค เพื่อโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ หรือลงทุนร่วมกันต่อไป
นางดวงดาว กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดกิจกรรม “สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการอย่างดี มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 455 ราย โดยเริ่มนำร่องจัดกิจกรรมที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 1 – 3 สิงหาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 97 คน ภูมิภาคที่ 2 คือ ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 6 – 8 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 158 คน ภูมิภาคที่ 3 คือ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 13 – 15 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 80 คน และภูมิภาคที่ 4 คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 21 – 23 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 120 คน
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีหลักสูตร 3 วัน ประกอบไปด้วย วันแรก ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จะได้เรียนรู้ในหัวข้อ “การเขียนโมเดลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคยุค AI, Mindset ผู้ประกอบการยุค AI, Workshop การสร้าง Prompt Engineering, การสร้าง BMC ด้วย AI เป็นต้น วันที่สอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับช่าง EV, การติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จ EV, การบริการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, การแก้ปัญหาระบบชาร์จต่างๆ เป็นต้น วันที่สาม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยสำหรับช่าง EV, ประสบการณ์การซ่อมรถ EV และ Workshop การซ่อมแบตเตอรี่ไฟฟ้าและเครื่องมือต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าจากการจัดกิจกรรมนี้ทั้ง 4 ภูมิภาค จะช่วยยกระดับอู่ซ่อมรถยนต์แบบเก่าได้ปรับตัวสู่ยุครถยนต์ EV และสร้างผู้ประกอบการด้านรถ EV เพิ่มขึ้นได้มากกว่า 360 ราย เกิดมูลค่าธุรกิจกว่า 27.5 ล้านบาท
“กิจกรรมดังกล่าว จะช่วยสร้างผู้ประกอบการด้านรถ EV ในทุกด้าน ทั้งในด้านการบำรุงรักษารถยนต์ และซอฟท์แวร์ EV การบริการที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จ EV รวมไปถึงเข้าพัฒนา เอสเอ็มอี เข้าสู่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม EV โดยผลที่ได้จะช่วยสร้าง อีโคซิสเท็ม ของอุตสาหกรรม EV ทั้งระบบ เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยในทุกระดับเข้าสู่ยุครถยนต์ EV และได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจรถ EV อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นางดวงดาว กล่าวทิ้งท้าย